news
“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลฯ นำทีมประชุมคณะกรรมการสภาฯ ครั้งที่ 5/2565 เน้นย้ำรัฐ-เอกชน ร่วมบูรณาการขับเคลื่อน “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” อย่างเป็นรูปธรรม
4 Nov 2022

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลฯ นำทีมประชุมคณะกรรมการสภาฯ ครั้งที่ 5/2565 เน้นย้ำรัฐ-เอกชน ร่วมบูรณาการขับเคลื่อน “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” มุ่งช่วยนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั่วประเทศ 1.8 ล้านคน ให้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว


วันที่ 28 ตุลาคม 2565 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และรองประธานตลอดจนคณะกรรมการร่วมประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ครั้งที่ 5/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวาระสำคัญประกอบด้วยการรายงานความคืบหน้ายุทธศาสตร์และกิจกรรมต่างๆ ที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานตามพันธกิจยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลฯ เช่น การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัลจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันดิจิทัลระดับโลกปี 2022 โดย IMD และผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันดิจิทัล รวบรวมโดยสภาดิจิทัลฯ ด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา (Laptop) ด้านการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค ได้แก่ ความคืบหน้าการจัด Startup Roadshow เป็นต้น




"นายศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ถือเป็นก้าวแรกที่น่ายินดีและดีใจแทนเด็กไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ที่ทางสภาดิจิทัลฯ และกลุ่มพันธมิตรได้นำเสนอมาตรการดังกล่าวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และยังมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้นักเรียนตั้งแต่ ป.1 – ม.6 ที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษจำนวนประมาณ 1.8 ล้านคนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ ควบคู่กับการสนับสนุนอินเตอร์เน็ตและความพร้อมของครูในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้โรงเรียน ครู ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ จะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมด รวมไปถึงสภาดิจิทัลฯ จะผลักดันการกรองข้อมูลจากเว็บไซต์และอินเตอร์เน็ต (Filtering Software) เพื่อกรองข้อมูลและจำกัดสิทธิการเข้าถึงเข้าเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย โดยสภาดิจิทัลฯ จะมุ่งมั่นติดตามการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังมีอีกข่าวดีหนึ่งของประเทศไทย นั่นคือการที่ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) ประกาศลงทุน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้าง Cloud Data Center ในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบขนาดการลงทุนจะเทียบเท่ากับอเมซอนในสิงคโปร์และอินโดนีเซียอีกด้วย และคาดว่าจะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขนาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไปในอนาคต





"นายศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานสภาดิจิทัลฯ ยังมีความตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เนื่องจากยังมีภาวะสงครามความขัดแย้งที่มีความยืดเยื้อ ซึ่งยังส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก แต่ในทางกลับกัน แนวโน้มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ธุรกิจ E-Commerce โดยคาดว่าจะมีมูลค่าทางตลาดสูงถึง 25% ของธุรกิจการค้าขายสินค้าและบริการสมัยใหม่ (Modern Trade) ในประเทศไทย นอกจากนั้น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรม (Landscape changing) ที่สำคัญของประเทศไทย โดยภาครัฐได้มีนโยบายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero target) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยพลังงานไฟฟ้าและดิจิทัล ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้น หากมองกลับมาที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลก จะเห็นได้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาใต้ยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุน อีกทั้งหาก Amazon Web Services (AWS) ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด จึงถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอีกทางหนึ่งด้วย