news
ประธานสภาดิจิทัลฯ “ศุภชัย เจียรวนนท์” นำทีมประชุมสามัญประจําปี และประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ครั้งที่ 3/2566 ย้ำรัฐ-เอกชนขับเคลื่อนไทย 4 มิติ “คน-ทุน-พลังงาน-โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล” พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลก
21 Apr 2023

ประธานสภาดิจิทัลฯ “ศุภชัย เจียรวนนท์” นำทีมประชุมสามัญประจําปี และประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ครั้งที่ 3/2566 แนะ “Digital Transformation” เสริมทุกอุตสาหกรรมดิจิทัล ย้ำรัฐ-เอกชนต้องช่วยกันขับเคลื่อนไทย 4 มิติ “คน-ทุน-พลังงาน-โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล” พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลก


วันอังคารที่ 18 เมษายน 2566, อาคารสุทธิชั้น 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ ได้แก่ “ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” และ “ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” รองประธาน คณะกรรมการ ตลอดจนสมาชิก ร่วมประชุมสามัญประจําปี โดยมีจำนวนสมาชิกร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันและครบองค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีวาระสำคัญ อาทิ เรื่องเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานแสดงสถานภาพเศรษฐกิจและผลผลิตด้านดิจิทัลของประเทศไทยเปรียบเทียบกับสากล  รายงานประจำปีแสดงผลงานของสภาดิจิทัลฯ ปี 2565 นโยบายของคณะกรรมการ และแผนดำเนินงานประจำปี 2566 เป็นต้น


นอกจากนั้น คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมกันประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ครั้งที่ 3/2566 เพื่อรายงานความคืบหน้ายุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) สภาดิจิทัลฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 คณะที่ 5 และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ข้อมูล 2) การเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีตอบข้อซักถาม “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” โดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลฯ 3) Ecosystem เพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์ 4) การจัดอันดับความชำนาญการใช้ภาษาอังกฤษจาก 111 ประเทศทั่วโลก โดย EF English proficiency Index 2022 และ 5) สถานะการดำเนินงานมาตรการการจ้างและ Upskill/Reskill กำลังคนด้าน STEM 


“นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ มีความมุ่งหวังตั้งใจในการมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทยไปสู่ระดับโลก  โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ-เอกชน โดยที่ผ่านมาสภาดิจิทัลฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดนโยบายส่งเสริม Startup การยกระดับทักษะ (Upskill) และปรับทักษะ (Reskill) ด้านดิจิทัลของกำลังคนในประเทศ ตลอดจนนโยบายดึงดูดการลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ


“ขอขอบคุณคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ทุกท่านที่ร่วมกันผลักดันนโยบายประเทศ โดยเข้าร่วมคณะทำงานระดับชาติ อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power เป็นต้น”


ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวต่อว่า จากการทุ่มเททำงานอย่างหนักของสภาดิจิทัลฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาพเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นผลให้เกิด “นโยบายภาครัฐ 9 มาตรการที่ส่งเสริมสนับสนุน Startup” ตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566  และหลายมาตรการขยายสิทธิประโยชน์ถึงปี 2568 ได้แก่ 1) การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax 2) ภาษีเงินได้ 17% สำหรับชาวต่างชาติทักษะสูง เมื่อทำงานในไทย 3) ลดหย่อนภาษี 150% หรือสนับสนุน 50% ของค่าจ้างงานทักษะอาชีพด้านดิจิทัล 4) ลดหย่อนภาษี 250% หรือสนับสนุน 50% ของค่าอบรมบุคลากรในทักษะด้านดิจิทัล 5) ลดหย่อนภาษี 200% เมื่อธุรกิจซื้อซอฟท์แวร์ที่ผลิตในประเทศ 6) ตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange สำหรับ SMEs และ Startups 7) Convertible Debt, ESOP และ Crowd funding สำหรับ SMEs และ Startups 8) บัญชีนวัตกรรมไทย ให้เงื่อนไขพิเศษสำหรับในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และ 9) SME ได้แต้มต่อ ในการประมูลโครงการของภาครัฐ


“ขอขอบคุณท่านกรรมการ และสมาชิก ที่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศภายใต้พันธกิจหลักสภาดิจิทัลฯ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัด การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสังคมดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ และการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของภูมิภาค”


“นายศุภชัย” ได้กล่าวถึงความสำคัญของ “Digital Transformation” ในทุกอุตสาหกรรม ว่ามีความจำเป็นต้อง Transform และในขณะเดียวกันความพร้อมของประเทศไทยอาจจะน้อยกว่าประเทศอื่น แต่ในทุกวิกฤต ย่อมเป็นโอกาสของท่านสมาชิก เมื่อเราเล็งเห็นการเกิด Industry Transformation ก็จะสามารถสร้างศักยภาพใหม่ และหากประสบความสำเร็จในส่วนหนึ่งของ Industry ก็จะนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้ ซึ่งถือได้ว่าภาคเอกชนไทยนั้นเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิด Digital Transformation ของระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง  


“สมาชิกทุกท่านจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยกันผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อให้เกิด Impact สูงสุด เช่น เราจะเห็นได้ว่าดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการแข่งขันยุค Digital Economy ดังนั้น การพัฒนาพลังงานและต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานไม่คงที่ ดังนั้น พลังงานทางเลือกหรือการใช้พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กและมีความปลอดภัยสูง จะสามารถเปลี่ยนหรือพลิกต้นทุนทางเศรษฐกิจได้”


ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สภาดิจิทัลฯ ต้องร่วมกับภาครัฐผลักดันอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ วิทยาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล ควรเข้าไปเป็นวิชาหลักในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยม ควบคู่กับการผลักดันให้เด็กมีคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้การเรียนรู้ด้านภาษาก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้เด็กไทยสามารถค้นคว้า เป็นจุดเริ่มต้น นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ และเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของ SMEs และ Tech Startups โดยมี ทุนเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน (Incentives)” 

“นอกจากนั้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในเชิงของ Data Center ซึ่งเป็นพื้นฐานและต่อยอดไปสู่ Cloud เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซียได้วางแผนการลงทุนร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์อย่างชัดเจนไปสู่ 200 เมกะวัตต์ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล และ Cloud Technology ในระดับภูมิภาคต่อไป”

“สภาดิจิทัลฯ ต้องร่วมกันผลักดันกับภาครัฐใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) คน 2) ทุน 3) ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ 4) พลังงานไฟฟ้า จะส่งผลให้การขับเคลื่อนของเราเป็นไปอย่างรวดเร็ว และจะสามารถพลิกผันระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ภายใน 15 ปีดังเช่นประเทศเกาหลีใต้” นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว


รูปภาพงานประชุมสามัญประจําปี















































รูปภาพงานประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ครั้งที่ 3/2566