news
“สภาดิจิทัลฯ” ต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา คณะวิทยาการจัดการ สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และเสวนาหัวข้อ “วิสัยทัศน์ พันธกิจ สภาดิจิทัลฯ ในการขับเคลื่อนพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย”
17 May 2023

แนะ Upskill-Reskill เสริมทักษะแห่งอนาคต เตรียมความพร้อมด้านภาษาและเทคโนโลยี ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน


วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566, อาคารสุทธิชั้น 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่กรุงเทพฯ - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ดิจิทัล ให้การต้อนรับอาจารย์และนักศึกษา คณะวิทยาการจัดการ สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วย “ดร.อธิป อัศวานันท์” ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมบรรยายในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ พันธกิจ สภาดิจิทัลฯ ในการขับเคลื่อนพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย” เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาถึงการดำเนินงานตามพันธกิจยุทธศาสตร์ สภาดิจิทัลฯ ตลอดจนมาตรการ นโยบายภาครัฐต่างๆ ที่เกิดจากการผลักดันของสภาดิจิทัลฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อันนำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย ยกระดับความสามารถการแข่งขันดิจิทัลสู่ผู้นำในภูมิภาคอาเซียน 




“นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ดิจิทัล กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลฯ พ.ศ. 2562 เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐบาล และภาคประชาชน อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล การพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัลให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในปัจจุบัน สภาดิจิทัลฯ มีเครือข่ายสมาชิกที่เป็นสมาคมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล ครอบคลุมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งด้านฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบด้านซอฟต์แวร์ บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัล




“สภาดิจิทัลฯ มีความมุ่งหวังในการช่วยประเทศขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลให้เป็นประเทศผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือ การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่การเรียนในปฐมวัย ถึงระดับมหาวิทยาลัย เน้นการเรียนการสอนทั้งด้าน Hard side ในเรื่อง Coding หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และด้าน Soft side คือทักษะด้านการสื่อสาร การบริหารจัดการ นอกจากนี้สภาดิจิทัลฯ ยังมีอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญในการมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรม ดังนั้นในวันนี้จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับอาจารย์ และนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ผู้นำด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเยี่ยมชมงานในวันนี้จะทำให้ทุกท่านบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ “นางเขมนรินทร์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว




“ดร.อธิป อัศวานันท์” ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ ร่วมให้ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยแก่นักศึกษา โดยชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งและเทรนด์ด้านดิจิทัลของประเทศไทยในมิติของธุรกิจหรือเศรษฐกิจ ว่ามีความโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รถยนต์ และ การแพทย์ นอกจากนั้น อุตสาหกรรมดิจิทัลได้มีการเปลี่ยนแปลง Disrupt ในหลายธุรกิจ อาทิ อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่ดู Streaming TV content ในแพลตฟอร์ม ดังเช่น Netflix มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยใช้ซอฟแวร์ และบริการดิจิทัลของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผู้ประกอบไทยไม่ได้เติบโตตาม ดังนั้น ความท้าทายของประเทศไทยคือ การส่งเสริมให้คนไทยเปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิตเทคโนโลยีดิจิทัล

  




หากเปรียบเทียบการแข่งขันด้านการลงทุนและทักษะด้านดิจิทัลของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เห็นได้ว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยมีจำนวน 14% ของอาเซียน ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการเติบโตด้านเงินลงทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ โดยมีสาเหตุเกิดจาก 1) การขาดทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งประเทศไทยมีทักษะภาษาอังกฤษเป็นอันดับที่ 97 จาก 113 ประเทศทั่วโลก และ 2) ทักษะ ICT การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลจาก IMD ด้าน Digital Workforce เช่น ทักษะและการจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การมี Tablet ต่อครัวเรือน เป็นต้น ยังเป็นประเด็นที่ไทยล้าหลังอยู่ ดังนั้นจึงอยากให้น้องๆเรียนรู้ ตลอดจนเสริมทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะดิจิทัลให้ได้มากที่สุด เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนและการทำงานในอนาคต ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ขอขอบคุณคณะอาจารย์และนักศึกษา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนตัวชี้วัด และยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยให้เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน “ดร.อธิป” กล่าว




“อาจารย์ ดร.ศุภมาส รัตนพิพัฒน์” ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ในวันนี้เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเยี่ยมชมสภาดิจิทัลฯ และต้องขอขอบคุณสภาดิจิทัลฯ ที่เปิดโอกาสและเปิดโลกทัศน์ให้แก่นักศึกษา ในการนำความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทยต่อไป 




นอกจากนั้น คณะอาจารย์และนักศึกษา คณะวิทยาการจัดการ สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ยังได้มีการสอบถามและแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะกับสภาดิจิทัลฯ ถึง บทบาทของนักศึกษาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงนโยบายที่สภาดิจิทัลฯ ร่วมผลักดันให้มีการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสภาดิจิทัลฯ ให้ข้อเสนอแนะถึงการพัฒนาทักษะ และการเตรียมความพร้อมด้านภาษา และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน เพื่อตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการผลักดันให้มีการกำหนดวิชาภาษาคอมพิวเตอร์/Computer Science เป็นวิชาหลักในการหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ ที่มีซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและมีคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่เยาวชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อันนำไปสู่การเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป