กิจกรรม
สภาดิจิทัลฯ จัดเวิร์กช๊อปออนไลน์ “7 มาตรการส่งเสริมที่ Startups ควรรู้” ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุน เสริมแกร่งศักยภาพ Startups และภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล พลิกโฉมไทยก้าวสู่ Tech Hub ของภูมิภาค
20 ต.ค. 2565

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “ดร.ธเนศ  โสรัตน์” กรรมการและเลขาธิการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง “7 มาตรการส่งเสริมที่ Startups ควรรู้” ให้กับคณะกรรมการและสมาชิกสภาดิจิทัลฯ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs/Startups) ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลฯ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในมาตรการส่งเสริม Startups และอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อให้เกิดการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด ตลอดจนส่งเสริมนโยบายการลงทุนในธุรกิจ Startups เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พลิกโฉมประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยี หรือ Tech Hub ในระดับภูมิภาค 




“ดร.ธเนศ โสรัตน์” กรรมการและเลขาธิการสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ธุรกิจ SMEs และ Startups นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ทำให้เกิดธุรกิจต่างๆ ทั้ง SMEs และ Startups รวมถึงเกิดการจ้างงาน ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินธุรกิจ SMEs และ Startups ยังมีอุปสรรคและข้อจำกัด ทั้งด้านการเติบโต การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้ธุรกิจขาดแคลนเงินทุนในการขยายกิจการ การวิจัย พัฒนานวัตกรรมและบริการต่างๆ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัล ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการแข่งขันในตลาดแรงงานค่อนข้างสูง จึงมีความจำเป็นในการพัฒนา Upskill/Reskill พนักงานเดิม และ การนำเข้าบุคลากรต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลมาช่วยพัฒนาประเทศอีกด้วย ตลอดจนธุรกิจ SMEs และ Startups ยังขาดความรู้ความเข้าใจในมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ภาครัฐมีให้ ดังนั้น การเข้าถึงมาตรการต่างๆ จะเป็นการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันทัดเทียมสากล




ด้าน “ดร.อธิป อัศวานันท์” ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่นผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญ นั่นคือ เงินลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูล Cento Report ในปี 2021 พบว่าเงินลงทุนที่เข้ามาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศไทยมีเพียงแค่ 3% เมื่อเทียบกับ 10 ประเทศในอาเซียน ประเทศไทยสูงกว่าประเทศพม่า ลาว และกัมพูชาเท่านั้น โดยสภาดิจิทัลฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 7 มาตรการส่งเสริม Startups และอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งมาตรการต่างๆ ในอนาคต จะเป็นนโยบายสำคัญที่มาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อก้าวสู่ Tech Hub ในระดับภูมิภาคต่อไป สำหรับ 7 มาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจ Startups ประกอบด้วย

1) มาตรการการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในธุรกิจ Startups ของไทย เป็นมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการขายหุ้น Startups ไทย

2) มาตรการการดึงดูดชาวต่างชาติทักษะสูงเมื่อมาทำงานในประเทศไทย ด้วยอัตราภาษีเงินได้ 17% โดยวีซ่าระยะยาวใหม่ (Long Term Resident หรือ LTR Visa) ที่มุ่งเน้นการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพนั้นมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญต่างชาติด้วย โดยวีซ่าใหม่นี้เปิดรับผู้สมัครได้ตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้ อ้างอิงรายละเอียดจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

3) มาตรการ Thailand Plus Package โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM โดยการลดหย่อนภาษี 150% เมื่อธุรกิจจ้างงานทักษะอาชีพด้านดิจิทัลและ 

4) มาตรการส่งเสริมการ Upskill/Reskill บุคลากรทักษะสูงด้าน STEM โดยการลดหย่อนภาษี 250% เมื่อธุรกิจอบรมบุคลากรในทักษะด้านดิจิทัล 

5) มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% เมื่อธุรกิจซื้อซอฟท์แวร์ที่ผลิตในประเทศ เป็นมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และ Startups อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการธุรกิจซอฟแวร์ไทย

6) มาตรการระดมทุนด้วยตลาดหุ้นใหม่สำหรับ SMEs และ Startups กับตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange เพิ่มโอกาสในการระดมทุนด้วยตลาดหุ้นที่ปรับเกณฑ์ในการจดทะเบียนในตลาดให้เหมาะสมกับธุรกิจ SMEs และ Startups

7) มาตรการเครื่องมือระดมทุน บ.จำกัด Convertible Debt, ESOP รวมทั้ง Crowdfunding สำหรับ SMEs และ Startups ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)








สภาดิจิทัลฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนา SMEs และ Startups ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ SMEs และ Startups โดยสอดคล้องกับพันธกิจสภาดิจิทัลฯ ในการเป็นองค์กรสำคัญที่จะผนึกกำลังในการทำงานร่วมกับภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งในวันนี้ สภาดิจิทัลฯ จึงได้รวบรวมมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุน SMEs และ Startups นำเสนอให้แก่สมาชิกและเครือข่ายสภาดิจิทัลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจ เช่น การเพิ่มช่องทางการระดมทุน สิทธิประโยชน์ทางภาษี การจ้างงานและอบรมพนักงาน รวมทั้งการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้ง SMEs/Startups บริษัททั่วไป และนักลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ เพื่อสภาดิจิทัลฯ จะได้นำความคิดเห็นเป็นแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป “ดร.ธเนศ โสรัตน์” กรรมการและเลขาธิการสภาดิจิทัลฯ กล่าว


ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมเวิร์กช๊อปออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ “7 มาตรการส่งเสริมที่ Startups ควรรู้”