ข่าวสาร
สภาดิจิทัลฯ เดินหน้าจัดเวิร์กช๊อปออนไลน์ภาษาอังกฤษ “7 Policy Measures for Startups (English Session)” กระตุ้นการลงทุน เสริมแกร่ง Startups และภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล เร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
16 พ.ย. 2565

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565 - “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “ศ.ดร.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (ระหว่างประเทศ) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง “7 Policy Measures for Startups (English Session)” ให้กับคณะกรรมการและสมาชิกสภาดิจิทัลฯ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) หอการค้าไทย-สวีเดน ตลอดจน นักลงทุน ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs/Startups) และผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลฯ ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในมาตรการส่งเสริม Startups และอุตสาหกรรมดิจิทัล ให้เกิดการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันในระดับโลกต่อไป



“ศ.ดร.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs และ Startups มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศแต่อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินธุรกิจ SMEs และ Startups ยังเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการพัฒนาสินค้าและบริการเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจการวิจัย พัฒนานวัตกรรมและบริการต่างๆ นอกจากนั้น ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลจึงมีความจำเป็นในการส่งเสริมการ Upskill/Reskill พนักงานเดิม และ การนำเข้าบุคลากรต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลมาช่วยพัฒนาประเทศและที่สำคัญ ธุรกิจ SMEs และ Startups ยังขาดความรู้ความเข้าใจในมาตรการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการเข้าถึงมาตรการดังกล่าวอีกด้วย




สภาดิจิทัลฯ มีความตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ SMEs และ Startups ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย จึงบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนและเปิดโอกาสการลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ SMEs และ Startups จึงรวบรวมมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุน SMEs และ Startups นำเสนอ “7 Policy Measures for Startups(English Session)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจ เช่น การเพิ่มช่องทางการระดมทุน สิทธิประโยชน์ทางภาษี การจ้างงานและอบรมพนักงาน รวมทั้งการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง SMEs/Startups บริษัททั่วไป และนักลงทุน “ศ.ดร.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว




“ดร.อธิป อัศวานันท์” ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรม Startups ของประเทศไทยซึ่งได้รวบรวมจากข้อมูล Cento Report ปี 2021 พบว่า เงินลงทุนที่เข้ามาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศไทยมีเพียงแค่ 3% ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ในปี 2558 ประเทศไทยมีการลงทุนในเทคโนโลยีคิดเป็น 14% ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยอินโดนีเซียก็แซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยสูงกว่าประเทศพม่า ลาว และกัมพูชาเท่านั้น นอกจากนั้น ยังสะท้อนจากข้อมูลจำนวนยูนิคอร์นและ Startups อีกด้วยโดยการจัดงานในครั้งนี้จะสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจใน 7 มาตรการส่งเสริม Startups และอุตสาหกรรมดิจิทัล อีกทั้งจะรวบรวมข้อเสนอแนะและความคิดเห็น นำเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางการกำหนดนโยบายให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของ SMEs/Startups และ นักลงทุน นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคต่อไป




สำหรับ 7 มาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจ Startups และอุตสาหกรรมดิจิทัล ประกอบด้วย


1) มาตรการการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในธุรกิจ Startups ของไทย

2) มาตรการการดึงดูดชาวต่างชาติทักษะสูงเมื่อมาทำงานในประเทศไทย ด้วยอัตราภาษีเงินได้ 17% 

3) มาตรการ Thailand Plus Package โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM โดยการลดหย่อนภาษี 150% เมื่อธุรกิจจ้างงานทักษะอาชีพด้านดิจิทัลและ

4) มาตรการส่งเสริมการ Upskill/Reskill บุคลากรทักษะสูงด้าน STEM โดยการลดหย่อนภาษี 250% เมื่อธุรกิจอบรมบุคลากรในทักษะด้านดิจิทัล 

5) มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% เมื่อธุรกิจซื้อซอฟท์แวร์ที่ผลิตในประเทศ

6) มาตรการระดมทุนด้วยตลาดหุ้นใหม่สำหรับ SMEs และ Startups กับตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange 

7) มาตรการเครื่องมือระดมทุน บ.จำกัด Convertible Debt, ESOP รวมทั้ง Crowdfunding สำหรับ SMEs และ Startups


ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมเวิร์กช๊อปออนไลน์ ย้อนหลังคลิก 

>> 7 มาตรการส่งเสริมที่ Startups ควรรู้ (ภาษาไทย) 

>> 7 มาตรการส่งเสริมที่ Startups ควรรู้ (ภาษาอังกฤษ)