ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” จัดประชุมออนไลน์คณะกรรมการ ถกข้อคิดเห็นต่อ ร่างประกาศการกำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ขับเคลื่อนกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เหมาะสม หนุนการพัฒนานวัตกรรม นำไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
23 ก.พ. 2566

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านพัฒนาสังคมดิจิทัล ร่วมกับคณะกรรมการสภาฯ จัดการประชุมออนไลน์ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ ร่างฯ ประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ ให้สอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยง และการใช้งาน รวมทั้งมีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม ตลอดจนเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม การพัฒนานวัตกรรม และการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล 




ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการสภาฯ ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนมาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลบางลักษณะ 2) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และ 3) ลักษณะโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าหรือบริการ โดยในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันพุธที่ 1 มีนาคม 2566 เพื่อรวบรวมนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ต่อไป



สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ ที่มีการปรับปรุงแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ วัตถุประสงค์การใช้งาน และความเสี่ยงของ “utility token พร้อมใช้” มีหลักการกำกับดูแลที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น บัตรกำนัลดิจิทัลที่ออกในรูปของโทเคน โทเคนที่ให้สิทธิในการแลกบัตรคอนเสิร์ต และงานศิลปะ รูปภาพ เพลง แสตมป์หรือวีดีโอในรูปแบบ non-fungible token (NFT) เป็นต้น และ utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย utility token พร้อมใช้ ประเภทอื่นนอกจากกลุ่มที่ 1 เช่น utility token ที่ให้สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการบน Distributed Ledger Technology (DLT) รวมทั้ง Decentralized Finance (DeFi) เป็นต้น



นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายฯ เพื่อให้มีความเหมาะสม เช่น หลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (listing rule) และหลักเกณฑ์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rule) และหลักเกณฑ์การติดตามและตรวจสอบสภาพการซื้อขาย (market surveillance) ด้วย