ข่าวสาร
"ศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมเวทีระดมความเห็น “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” สนับสนุนวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล ปลดล็อกทรัพยากรมนุษย์ สร้างเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ระดับโลก
9 เม.ย. 2566

"ศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานสภาดิจิทัลฯ ร่วมเวทีระดมความเห็น “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” ในหัวข้อ “Digital Transformation และการศึกษาไทย” สนับสนุนวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล ปลดล็อกทรัพยากรมนุษย์ สร้างเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ระดับโลก


วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2566, หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ - “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมเวทีตอบข้อซักถาม “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” จัดขึ้นโดยหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมี “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหารภาคเอกชน และตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อาทิ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เป็นต้น เพื่อสะท้อนมุมมองข้อเสนอจากภาคธุรกิจต่อพรรคการเมือง กำหนดนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก้าวสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน




นายศุภชัย ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวในประเด็น “Digital Transformation และการศึกษาไทย” โดยเริ่มจากอันดับการแข่งขันในเวทีโลกด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 26 และอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่อันดับที่ 40 อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารอยู่อันดับที่ 15 ของโลก ดังนั้น จะเห็นว่าประเทศไทยมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก




“การขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของประเทศที่มีศักยภาพในทุกประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เป็นต้น ก็คือการปลดล็อกศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถือเป็นปัญหาเร่งด่วน โดยเยาวชนจะเป็นผู้เปลี่ยนอนาคตของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ย่อมนำมาซึ่งการปฏิรูป และ ระบบ Incentive ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจาก 2.0 ไปเป็น 5.0 จะต้องมุ่งเน้นความสำคัญของการผลักดันให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยเริ่มต้นจากความสนใจของเด็ก ซึ่งจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญในอนาคต”




“นายศุภชัย” ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงความท้าทายของโลกและของประเทศไทยมี 4 ประการ ประกอบด้วย ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงแหล่งทุน (Inclusive Capital) การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digital Transformation) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) โลกแบ่งขั้ว (Multi Polar) ซึ่งมีการขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทั้งสิ้น 




“นายศุภชัย” กล่าวต่อว่า หากเรามองไปสู่ปัจจุบันและอนาคต จะเห็นได้ว่า วิทยาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล มีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยิ่ง ซึ่งควรเข้าไปเป็นวิชาหลักในระบบการศึกษา ให้เด็กสามารถเข้าสู่กระบวนการค้นคว้า วิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรม ระบบพื้นฐานเหล่านี้ต้องทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น ในระดับโรงเรียน จึงต้องสร้างการเรียนรู้เชิงปฏิบัติและประสบการณ์ (Experience-based Learning Center) นำไปสู่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และในระดับมหาวิทยาลัย จะต้องมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม (Excellence Center หรือ Innovation Cluster) 




“โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเด็กทุกคนมีคอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์ในการคัดกรองของเสีย (Filtering Software) และโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ Innovation Center Innovation Cluster และในระดับประเทศ นั่นคือ Technology Hub ประเทศไทยก็จะมีความเจริญก้าวหน้า และสามารถแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลกได้” นายศุภชัย กล่าว


สำหรับงานเวทีตอบข้อซักถาม “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้พรรคการเมืองรับฟังและตอบคำถามภาคธุรกิจ โดยมีการเชิญตัวแทนภาคธุรกิจและผู้แทนเครือข่ายหอการค้าฯ มาสะท้อนแนวคิดและข้อเสนอเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจใน 10 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) Digital Transformation และการศึกษาไทย 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ 3) การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาแรงงานไทย 4) การส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตร อาหาร และ BCG & ESG 5) การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 6) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ 7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 8) โอกาสของไทยด้านการค้าชายแดน 9) การสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และ 10) ข้อเสนอจากตัวแทนนักศึกษา ทั้งนี้ ทางหอการค้าฯ ได้สรุปความเห็นของภาคธุรกิจจากเวทีแลกเปลี่ยนฯ และมอบสมุดปกขาว เพื่อเป็นแนวทางแก่พรรคการเมืองในการพิจารณากำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจต่อไป