ข่าวสาร
“สภาดิจิทัลฯ” ร่วมเสวนาในงานประชุมสัมมนา “Space × Digital : Driving Thailand toward the New Economy” แนะผลักดันบุคลากรทักษะสูง มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “ผู้ผลิต” เทคโนโลยีดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่อย่างยั่งยืน
8 เม.ย. 2566

วันอังคารที่ 4 เมษายน 2566, โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ – “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดย “ดร.อธิป อัศวานันท์” ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยร่วมเป็นวิทยากรเสวนาหัวข้อ “New Space Economy: Creating the Future of Thai Digital Economy with Space Technology” ในงานประชุมสัมมนา “Space × Digital : Driving Thailand toward the New Economy” ภายใต้โครงการพัฒนาแผนการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ (New Space Economy) ของประเทศไทย จัดขึ้นโดย “สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)" โดยมี “นายภุชพงค์ โนดไธสง” เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวเปิดงานประชุม นอกจากนั้น ภายในงานได้มีการแชร์ประสบการณ์จาก “ด.ญ. พรปวีณ์ ม้วนหรีด” ทูตเยาวชนประเทศไทยคนแรกของ Artemis Generation GISDA Thailand & NASA USA ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อน Space Technology แก่ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาฯ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา จำนวน 200 คน






“นายภุชพงค์ โนดไธสง” เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New Space Economy) จากต่างประเทศ พบว่า มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก คาดว่าในปี 2583 จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) พบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศ ประมาณ 50,000 ล้านบาท ดังนั้น การขับเคลื่อนเรื่องกิจการอวกาศจึงมีความความสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศของเศรษฐกิจอวกาศที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอวกาศ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในบริบทของประเทศไทย จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสามารถผลิตอุปกรณ์กิจการอวกาศได้ด้วยตนเอง และลดการนำเข้า รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ในเรื่องของอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจอวกาศที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอวกาศของตลาดโลกได้






“ดร.อธิป อัศวานันท์” ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ ได้แสดงความเห็นต่อโอกาสและอุปสรรคในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศในไทยมีความคล้ายกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งไทยยังขาดบุคลากรพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นรองประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมแสดงความห่วงใยไม่อยากให้ไทยเป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยี แต่อยากให้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีต้นน้ำ และสะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติ ตัดไทยออกจากประเทศน่าลงทุนไปแล้ว 2 ปี เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรการผลิต




“ปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยที่ต้องเร่งพัฒนา นั่นคือ การขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) มากกว่าประเทศไทยหลายเท่า นอกจากนั้น ในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ยังมองว่าประเทศไทยยังอยู่ในฐานะผู้ซื้อ ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้พัฒนา ดังนั้น ประเทศไทยควรกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนในการมีส่วนร่วมต่ออุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีต้นน้ำอย่างแท้จริง






ด้าน “ด.ญ. พรปวีณ์ ม้วนหรีด” ทูตเยาวชนหญิงไทยคนแรกและคนปัจจุบันของ NASA Artemis Generation GISTDA Thailand & NASA USA ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า มีความสนใจเรื่องของ STEM โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี รวมถึงด้านอวกาศมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีความฝันที่อยากจะเป็นนักบินอวกาศจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Extra-Terrestrial (E.T.) รวมถึงได้มีโอกาสเข้าร่วมนิทรรศการอวกาศของ NASA จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินตามความฝันที่อยากจะท่องอวกาศ และตอนนี้ก็ได้ทำความฝันให้เป็นจริงสำเร็จ ต้องขอขอบคุณโครงการสำรวจอวกาศของ NASA ที่ได้มอบโอกาสให้ได้เรียนรู้ในหลายด้าน เช่น การลองผิดลองถูก ฝึกฝนความอดทน ความมั่นใจ และการเป็นผู้นำ เป็นต้น และในมุมมองของเยาวชน อยากจะฝากถึงทุกภาคส่วนในการให้โอกาสและส่งเสริมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่เยาวชน ให้ได้ฝึกฝนและมีมุมมองใหม่ๆ ต่อยอดพัฒนาสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยีอวกาศต่อไป 




สำหรับงานประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเปิดรับความคิดเห็นผู้เข้าร่วมงาน ในการนำเสนอรายละเอียดของร่าง แผนการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ (New Space Economy) ของประเทศไทย เพื่อวางรากฐานการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างยั่งยืน